"เดอะ คริสเตียน ไซเอินซ์ มอนิเตอร์ - สื่อออนไลน์ต่างชาติเผยแพร่สกู๊ปจัดอันดับ 5 อุทกภัยเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมไทยแม้ก่อความเสียหายมหาศาลก็ยังเทียบไม่ได้ภัยพิบัติล้างผลาญเหล่านั้น
เว็บไซต์ "เดอะ คริสเตียน ไซเอินซ์ มอนิเตอร์" ระบุในบทความเรื่อง "Thailand floods pale beside five worst floods in history" ว่าอุทกภัยในปีนี้ของไทยที่เวลานี้กำลังคุกคามกรุงเทพฯและคร่าชีวิตชาวบ้านไปแล้วกว่า 437 ศพ พร้อมก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่ยังห่างไกลกับการได้รับจารึกว่าเป็นวิกฤตน้ำท่วมเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเหตุอุทกภัยในสหรัฐฯจากเหตุการณ์เชื่อนเซาต์ ฟอร์ค ในจอห์นสทาวน์ มลรัฐเพนซินเวเนียแตกในวันที่ 31 พฤษภาคม 1889 หลังมีฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนัก คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 2,000 ศพ
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้ก็ยังไม่ติดอันดับอุทกภัยที่มีประชาชนต้องสังเวยชีวิตมากสุดในประวัติศาสตร์โลกเช่นกัน และทางเว็บไซต์ เดอะ คริสเตียน ไซเอินซ์ มอนิเตอร์ จึงได้เผยถึง 5 อุทกภัยล้างผลาญชีวิตผู้คนมากที่สุด โดยทั้งหมดเกิดขึ้นที่ประเทศจีน แต่มีต้นตอแตกต่างกันออกไป
อันดับ 5 แม่น้ำ Hong-Ru 1975
ในเดือนสิงหาคม 1975 พายุฝนที่เทลงมาแบบไม่ลืมหูลืมตา ส่งผลให้เขื่อน 2 แห่งในแม่น้ำ Hong-Ru (ส่วนหนึ่งในระบบแม่น้ำเหลืองของจีน) แบกรับน้ำมากเกินไปจนเขื่อนแตก นำมาซึ่งกำแพงคลื่นน้ำสูงกว่า 20 ฟุตและกว้าง 7 ไมล์ ไหลบ่าด้วยความเร็ว 30 ไมล์ต่อชั่วโมง ถาโถมเข้าปลิดชีพประชาชนเกือบ 10,000 รายและอีกกว่า 11 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย
อันดับ 4 แม่น้ำเหลือง 1642
เหตุการณ์คราวนี้ไม่ใช่ฝีมือธรรมชาติแต่เกิดขึ้นจากเจตนาของมนุษย์ โดยในปีดังกล่าว กองทัพหมิง เปิดทางน้ำถล่มเมืองไคเฟิง ซึ่งเวลานั้นเป็นเมืองหลวงของจีน เพื่อขัดขวางทหารกบฏเข้ายึดเมือง สังเวยชีวิตราษฎรราว 300,000 คน
อันดับ 3 แม่น้ำเหลือง 1938
ปีนั้นทหารผู้รักชาติของ เจียง ไคเชก ทำลายเขื่อนกั้นน้ำใกล้เมืองไคเฟิง เพื่อสกัดกั้นการรุกคืบเข้ามาของทหารญี่ปุ่นผู้รุกราน แม้ยุทธศาสตร์นี้ได้ผล แต่ก็ต้องแลกกับ 800,000 ชีวิต
อันดับ 2 แม่น้ำเหลือง 1887
ตะกอนดินสีเหลืองจำนวนมหาศาลของแม่น้ำเหลือง (อันนำมาซึ่งชื่อของแม่น้ำแห่งนี้) คือสาเหตุภัยพิบัติครั้งเลวร้ายของจีนในปี 1887 ขณะที่ตะกอนสะสมตัวมานานหลายปีและระดับน้ำก็เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ และแม้ชาวบ้านจะสร้างแนวกั้นนำตามตลิ่งแม่น้ำให้สูง แต่บางจุดของแม่น้ำก็ยังสูงกว่าพื้นที่ราบลุ่มโดยรอบกว่า 30 ฟุต และเมื่อมีฝนฤดูใบไม้ผลิประกอบกับหิมะที่หลอมละลาย ทำให้น้ำทะลักคัน ประชาชนหลายหมื่นเสียชีวิตทันที ส่วนอีกล้านคนก็มาจบชีวิตจากนั้นด้วยภัยของความอดอยาก
อันดับ 1 แม่น้ำเหลือง 1931
ในเดือนสิงหาคม 1931 แม่น้ำเหลืองล้มตลิ่งและทะลักเข้าท่วมผืนดินกินเนื้อที่ 42,000 ตารางไมล์ ทำประชาชนกว่า 80 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย คาดหมายว่าผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม อดอยากและโรคติดต่อมากถึง 850,000 ถึง 4 ล้านคน ทำให้มันกลายเป็นหายนะทางธรรมชาติครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น